ที่มาของโครงการฯ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามอย่างหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งได้รับการจัดลำดับไว้ในลำดับที่ 9 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรงในระหว่างปี 2536 ถึง 2555 ถึงแม้ว่าประเทศไทยได้พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงเป็นประเทศที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมากถึง 327 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2556 จัดเป็นลำดับที่ 19 ของโลก
ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาสตอกโฮล์ม ว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2548 การปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน หรือ Persistent Organic Pollutants (POPs) ในประเทศไทยนั้น ได้มีรายงานจาก Greenpeace International เกี่ยวกับการปลดปล่อยสาร POPs จากภาคอุตสาหกรรม และสารเคมีอื่นๆ ที่เป็นภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นการขับเน้นให้เห็นความรุนแรงของสถานการณ์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ผลการศึกษาที่ได้จากการเก็บตัวอย่างน้ำผิวดินจำนวน 300 ตัวอย่าง ในพื้นที่ 31 แห่ง ตลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ยังพบว่าในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและมีประชากรหนานแน่นมีค่าความเข้มข้นของสาร PFOS ในปริมาณที่สูงกว่า
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน รัฐบาลไทยโดยหน่วยงานที่รับผิดขอบหลัก คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และหน่วยร่วมในโครงการอื่นๆ จึงได้ขอรับการสนับสนุนเงินสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อใช้แนวคิดในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การประยุกต์ใช้เทคนโนโลยีคาร์บอนต่ำ การใช้สารเคมีอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเอื้อประโยชน์ร่วมกันระหว่าภาคอุตสาหกรรม และระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชน ภายใต้ทิศทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจัดการสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานอย่างเหมาะสม
มีหน่วยงานใดร่วมดำเนินโครงการฯ บ้าง?
กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ร่วมกันดำเนินโครงการการประยุกต์ใช้หลักการเอื้อประโยชน์ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชน และการใช้สารเคมีอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเลิกใช้สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน โดยโครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก และบริหารโครงการโดยองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ พร้อมกับมีหน่วยงานจากภาคเอกชนเข้าร่วมในโครงการประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด
วัตถุประสงค์โครงการฯ
โครงการฯ มีวัตถุประสงค์ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานและสารเคมีอื่นๆ ที่เป็นอันตราย จากภาคอุตสาหกรรมและชุมชนเมือง โดยการประยุกต์ใช้หลักการเอื้อประโยชน์ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชน และการใช้สารเคมีอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ
พ.ศ. 2563 ถึง 2568
กิจกรรมในโครงการฯ
เราเชื่อว่าทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมของโครงการฯ ได้
หากคุณเป็นประชาชนทั่วไป
ร่วมเรียนรู้เทคนิคการคัดแยกขยะสำหรับในครัวเรือนและชุมชน เพิ่มรายได้ และรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
หากคุณเป็นส่วนหนึ่งของภาคอุตสาหกรรม
ร่วมเรียนรู้เทคนิคการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและใช้สารเคมีอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดต้นทุนและส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีทั้งในและรอบนอกโรงงาน
หากคุณเป็นที่ปรึกษา ผู้จำหน่ายและให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรม
ร่วมเรียนรู้เทคนิคการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพอย่างเข้มข้น จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ
หากคุณเป็นส่วนหนึ่งของ เขตประกอบการ/สวน/นิคมอุตสาหกรรม
ร่วมเรียนรู้การพัฒนา เขตประกอบการ สวน และนิคมอุตสาหกรรม สู่การเป็นเขตประกอบการ สวน และนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เทียบเคียงกับมาตรฐานนานาชาติ
หากคุณเป็นส่วนหนึ่งในการเก็บ คัดแยก และถอดชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์
ร่วมเรียนรู้วิธีการป้องกันตนเองในการเก็บและคัดแยกขยะอย่างปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ และนำขยะปนเปื้อนไปกำจัดอย่างถูกต้อง
หากคุณเป็นผู้รีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอื่นๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันไม่ให้สารมลพิษที่ตกค้างยาวนานกลับเข้ามาในการใช้งาน เพราะวันหนึ่งเราและคนที่เรารัรกอาจเป็นคนนั้นที่โชคไม่ดีไปใช้ของสิ่งนั้น
หากคุณเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแลการจัดการขยะ
ร่วมกับเราในการรณรงค์ให้ชุมชนมีการคัดแยกขยะและใช้งานพร้อมบำรุงรักษาเตาเผาขยะอย่างเหมาะสม
หากคุณเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
ร่วมให้ข้อคิดเห็นในข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและการจัดการสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานอย่างเหมาะสม ให้สำเร็จเป็นรูปธรรม